เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง ประเภทและลักษณะ เครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบ สุโขทัย ที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผา ชาวบ้านในหมู่บ้าน 2 และ 3 ของบ้านทุ่งหลวงแทบทุกครัวเรือน จะมีความเชี่ยวชาญในการปั้นเครื่องปั้นดินเผา เครื่องปั้นดินเผาของบ้านทุ่งหลวงจะมีลักษณะที่เด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เรียนรู้สืบทอดจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดกันมา ส่วนใหญ่จะทำเป็นอาชีพเสริมหลังว่างจากงานเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจะจัดอยู่ในประเภทเครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบ เป็นของประดับเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน อาทิ กระถาง หม้อ ดิน โอ่ง คนโท กาน้ำ และของประดับตกแต่งต่างๆ ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง
บ้านทุ่งหลวง หมู่บ้านหนึ่งในอำเภอคีรีมาศ เป็นหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย เครื่องปั้นดินเผา ที่บ้านทุ่งหลวงเป็นดินเผาแบบไม่เคลือบ เมื่อเผาแล้วจะมีสีแดง ต่อมามีการพัฒนารูปแบบขึ้น เช่น โคมไฟฉลุ หม้อฉลุ หม้อลายพญานาค รูปปั้นพระอภัยมณี จนกลายเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง แรกเริ่มเป็นการ คิดทำของใช้ในชีวิตประจำวันไว้ในครัวเรือน เช่น หม้อ เตา กระทะ โอ่งน้ำ ในช่วงว่างจากการทำนา ใช้วัสดุดินเหนียว ทราย ในท้องถิ่นนำมาตีปั้น เป็นรูปทรงต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน สิ่งที่สังเกตได้ง่ายเมื่อเดินทางมาถึงที่หมู่บ้านทุ่งหลวงคือ จะเห็นเครื่องปั้นดินเผาแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ เช่นโอ่งน้ำ หม้อดินเผา กระถางต้นไม้ หรือจะเป็นของประดับจำพวก ตุ๊กตาดินเผาประดับสวน ฐานจุดเทียนหอม โคมไฟดินเผาและเมื่อเข้าสู่ตัวหมู่บ้านจะเห็นได้ว่าเกือบทุกหลังคาเรือนจะมีสินค้า เครื่องปั้นดินเผาวางจำหน่ายอยู่หน้าบ้าน เมื่อถึงกลางหมู่บ้านจะมีศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเครื่องปั้นดินเผามีการจัดแสดง อุปกรณ์เครื่องมือการทำเครื่องปั้นดินเผา เป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นชุมชน ปัจจุบันชาวทุ่งหลวงกว่า 200 ครัวเรือนยังคงผลิต เครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นอาชีพ โดยจะนำดินเหนียวที่ขุดจากที่นารอบหมู่บ้านมาแช่น้ำไว้ 1 วันกับ 1 คืน จากนั้นจึงนำดินมานวด โดยในอดีตจะใช้วิธีย่ำด้วยเท้า แต่ปัจจุบันนี้มีเครื่องนวดดินมาช่วยทุ่นแรง เสร็จแล้วจึงนำดินที่นวดเรียบร้อยแล้วมาปั้น โดยวิธีปั้นจะมี 4 วิธีด้วยกัน คือการตี การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน การหล่อน้ำดิน และการปั้นด้วยมือ
สำหรับตำบลทุ่งหลวงนั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ในอดีตถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือหลักศิลาจารึกที่ 9 จารึกวัดสรศักดิ์ โดยกล่าวถึง นายอินทรศักดิ์ สร้างวัดไว้กับหมู่บ้านเมืองสุโขทัยในบรรทัดที่ 29-30 ว่า “...นากับพระวิหาร 140 อยู่บ้านนาไผ่ล้อมแล บ้านหอดนาจังหันอยู่บ้านสุขนาพอมน้อย200 บ้านวังคัด20 บ้านป่าขาม 20 บ้านตาลโจะ 20บ้านหนองบัวหลวง 40 นากับหอพระ อยู่บ้านหนองยางน้อย 70...”จึงสันนิษฐานว่า “บ้านหนองบัวหลวง”ที่ปรากฏในศิลาจารึกน่าจะเป็นบ้านทุ่งหลวง เพราะในเขตทุ่งหลวง นั้นมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้วยและเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ในปีพ.ศ.2452ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วงมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในระหว่างทางที่ไปจากเมืองสุโขทัย (เมืองเก่า) ไปเมืองธานี(เมืองใหม่) นั้นมีตำบลหนึ่งเรียกว่าทุ่งหลวงเข้าใจว่าทุ่งหลวงนี่เองจะเป็นทะเลหลวงของพระเจ้ารามคำแหง คงมุ่งความจำเป็นที่กว้างมีน้ำขังเป็นฤดู” ด้วยเหตุที่บ้านทุ่งหลวงมีหนองน้ำขนาดใหญ่คือหนองทอง ชาวบ้านจึงใช้ดินจากแหล่งนี้ ผลิตเครื่องปั้นดินเผามาช้านานโดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสืบค้นได้ราว 90 ปีเศษที่ปรากฏในจดหมายระยะทาง ไปพิษณุโลกที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้บันทึกเมื่อครั้งเดินทางมาสำรวจมณฑลพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.2444 บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “วันที่ 18 เวลาตื่นนอนเช้า พระยาสุโขไทยเอาหม้อกรันมาให้ 3 ใบเป็นหม้อที่ตั้งใจทำอย่างประณีต ภาษาบ้านนอกเขาทำที่บ้านทุ่งหลวงอยู่ใต้เมืองสุโขทัยฝั่งตะวันตก หม้อใหญ่กระพุงเกือบ 2 ศอกเขาก็ทำมีชุมพละสีหะสมคราม ให้มาแต่วังไม้ขรก็มี”จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าบ้านทุ่งหลวงแห่งนี้มีการปั้นเครื่องปั้นดินเผามานานนับศตวรรษ และหม้อกรัน ที่กล่าวถึงก็คือเป็นหม้อน้ำสมัยโบราณที่เป็นแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวงผลิตด้วยวิธีการผสมดินกับทราย ในอัตราส่วนค่อนข้างสูง เพื่อช่วยคายน้ำดังนั้นทำให้น้ำในหม้อกรันบ้านทุ่งหลวงมีความเย็นกว่าหม้อดินทั่วไป